เมนู

สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ปิ่นประชากรได้ทรงฟังดังนั้น ก็สิ้นสงสัย สาธุการว่า สาธุ ภนฺเต
พระเจ้าข้า ผู้เป็นเจ้าวิสัชนานี้ควรแล้ว สมฺปฏิจฺฉามิ โยมจะรับถ้อยคำไว้ในกาลบัดนี้
เอกัจจาเนกัจจานัง ธัมมาภิสมยปัญหา คำรบ 3 จบเพียงนี้

นิพพานัสส อทุกขมิสสภาวปัญหา ที่ 4


สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดี มีพระราชโองการตรัสถามว่า ภนฺเต นาคเสน ข้า
แต่พระนาคเสนผู้ปรีชา เอกนฺตสุขํ นิพฺพานํ อันว่าพระนิพพานนั้น เป็นเอกันตบรมสุขแท้ หรือ
หรือว่าจะเจือไปด้วยทุกข์บ้างพระผู้เป็นเจ้า
พระนาคเสนมีเถรวาจาว่า มหาราช ขอถวายพระพรบพิตรพระราชสมาภาร อันว่า
นิพพานนั้นเป็นเอกกันตบรมสุข จะได้จานเจือด้วยความทุกข์หามิได้
สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดีมีพระราชโองการตรัสว่า ภนฺเต นาคเสน ข้าแต่
พระนาคเสนผู้ปรีชา พระผู้เป็นเจ้าว่านั้นโยมไม่เชื่อ โยมเห็นว่าพระนิพพานเจือไปด้วยทุกข์เป็น
แท้ ภนฺเต นาคเสน ข้าแต่พระนาคเสนผู้เป็นเจ้า ธรรมดาพระโยคาวจรเจ้าแสวงหาพระนิพพาน
นั้น ลำบากกายทรมานกายด้วยอิริยาบถทั้ง 4 คือจะเดินก็ภาวนา จะยืนก็ภาวนา จะนั่ง
ก็ภาวนา จะนอนก็ภาวนา จะบริโภคอาหารก็ต้องปัจจเวกขณ์ทุกคำอาหาร ต้องนั่งทรมาน จะ
นอน ก็ไม่เต็มตา ต้องรักษาจิตสำรวมอินทรีย์มิได้ส่งจิตไปตามอายตนะ ละญาติละมิตรละหมู่ละ
คณะ ถือสัลเลขสันโดษอยู่ไพรสณฑ์อันสงัดแต่ผู้เดียว ดูนี่ลำบากเป็นล้นเหลือ เหตุดังนี้ โยมจึง
่ว่าพระนิพพานนั้นเจือไปด้วยทุกข์ ที่เขาไม่แสวงพระนิพพานเขาก็เห็นสุขสบาย เหมือนหนึ่ง
หญิงชายทั้งหลายนี้ เขาไม่สำรวมอินทรีย์ เขายินดีในอายตนะคือเบญจกามคุณ 5 ประการ คือ
มาถือสุภนิมิตในรูป ยินดีในเสียงในกลิ่นในรสในสัมผัสถูกต้อง ที่ว่ายินดีในเสียงนั้นเป็นต้น
หญิงรูปชายอันฟ้องรำ ก็สำคัญเป็นสุภนิมิตว่างามนั้นประการ 1 ที่ว่ายินดีในเสียงนั้น คือยินดี
ในเสียงดุริยางค์ดนตรี และเสียงขับร้องอันจะให้เกิดราคะนั้นประการ 1 ที่ว่ายินดีในกลิ่นนั้น คือ
กลิ่นเกสรดอกไม้ทั้งลูกไม้ใบไม้แก่นไม้เปลือกไม้ยางไม้อันหอม ให้เกิดราคะบำรุงราคะนั้นประการ
1 ที่ว่ายินดีในรสนั้น พหุวิวิธสุภรสาย นิมิตฺเต คือยินดีในขานทียะโภชนียะอันมีรสดีมีอย่าง
ต่าง ๆ ประการ 1 ที่ว่ายินดีในสัมผัสถูกต้องนั้น คือยินดีที่จะให้กายถูกต้องซึ่งสิ่งอันนุ่มอันอ่อน
คือฟูกหมอนอันอ่อน เป็นที่จะบริโภคนั้นประการ 1 เรียกว่า เบญจกามคุณ 5 มี รูปายตนะ

เป็นอาทิ มีกายายตนะเป็นปริโยสาน ถ้าจะว่าด้วยอายตนะ 6 ก็นับเอารูปายตนะเป็นต้น
มนายตนะเป็นที่สุด และมนายตนะนั้นคิดไปใจในใจตามวิสัยจิตคิดไปนั้น คนทั้งหลายเขาสบาย
เป็นสุขสำราญดังนี้ แต่พระโยคาวจรผู้แสวงหาพระนิพพานนั้น ลำบากนักลำบากหนา ฆ่าเสีย
ซึ่งความเจริญ 6 ประการ คือไม่ยินดีในรูปในเสียงในกลิ่นในรสในสัมผัส และจิตไม่กำหนัดใน
สุขุมรูปซึ่งบัญญัติตามใจของตน เมื่อกระทำฉะนี้จะมิร้อนรนเจตสิกนั้น เพราะทรมานอินทรีย์
2 ประการ คือกายจิตไม่ยินดีก็สมด้วยคำมาคัณฑิยปริพพาชกยกข้อความติเตียนลหลู่สมเด็จ
พระบรมครูผู้ประเสริฐว่า พระสมณโคดมนี้ฆ่าเสียซึ่งความเจริญ ไม่ยินดี อหํ พฺรูมิ เหตุดังนี้
นะผู้เป็นเจ้า โยมจึงกล่าวว่า พระโยคาวจรผู้แสวงหาพระนิพพานนี้มีแต่ทุกข์ปราศจากสุขที่แท้
จะว่าไม่มีทุกข์อย่างไร
พระนาคเสนจึงวิสัชนาแก้ไขว่า มหาราช ขอถวายพระพรบพิตรพระราชสมภาร เอกนฺต-
สุขํ นิพฺพานํ
พระนิพพานนี้เป็นเอกันตสุข มิได้เจือไปด้วยทุกข์โดยแท้ แต่เมื่อแรกยังแสวงหา
นั้นแหละเป็นทุกข์จริง ครั้นว่าได้แล้วประกอบด้วยสุขเกษมโดยแท้ ดังอาตมาจะถามบพิตร
พระราชสมภาร ธรรมดาว่าราชสมบัติแห่งบรมกษัตริย์ทั้งหลายนี้ เป็นสุขอยู่หรือว่าเจือด้วย
ทุกข์เล่า
พระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดี มีพระราชโองการตรัสว่า ภนฺเต ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า
ผู้ปรีชา ธรรมดาว่าราชสมบัติแห่งบรมกษัตริย์ทั้งหลายมีแต่สุขเกษมสบาย
พระนาคเสนจึงถวายพระพรว่า มหาราช ดูรานะบพิตรพระราชสมภารผู้ประเสริฐ
อาตมาเห็นว่า ราชสมบัติเจือไปด้วยทุกข์
สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดีจึงมีพระราชโองการตรัสว่า ภนฺเต ข้าแต่พระผู้เป็น
เจ้าผู้ปรีชาญาณ อันว่าราชสมบัติบวรราชศฤงคารนี้มีแต่สุข เหตุไรพระผู้เป็นเจ้าจึงว่า ราช-
สมบัติเจือไปด้วยทุกข์เล่า พระผู้เป็นเจ้า
พระนาคเสนมีเถรวาจาว่า มหาราช ขอถวายพระพรบพิตรพระราชสมภารผู้ประเสริฐ
อันว่าราชสมบัติประกอบไปด้วยทุกข์นั้น เมื่อข้าศึกมารบพุ่งฆ่าตีฝูงประชาในขอบขัณฑสีมา อัน
เป็นปัจจันตประเทศคามนิคม พระมหากษัตริย์ทรงพระปรารมภ์เป็นทุกข์ กลัวว่านิคมประเทศ
ขอบเขตของพระองค์นั้นจะย่อยยับ จะต้องทรงเอาเป็นธุระปราบปรามข้าศึกนั้นประการหนึ่ง
เมื่อข้าศึกตีบุกรุกเข้ามาล้อมพระนาคไว้ บรมกษัตริย์ประกอบไปด้วยทุกข์ที่สุดแล้ว ต้อง
กะเกณฑ์ซึ่งโยธากล้าหาญออกไปรบ บางทีก็อัปราชัย บางทีก็มีชัย ได้ความลำบากไม่มีสุข
เหตุฉะนี้จึงว่า ราชสมบัติเจือไปด้วยทุกข์แสนทรมาน

สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดีมีพระราชโองการตรัสว่า ภนฺเต นาคเสน ข้าแต่
พระนาคเสนผู้ปรีชา ธรรมดาว่าราชสมบัติจะมีแต่ทุกข์เมื่อข้าศึกมา ต้องแสวงหาอุบายให้
โยธาตีให้แตกไป ครั้นได้ซึ่งสมบัติหาข้าศึกไม่แล้ว ก็ผ่องแผ้วมีสุข อญฺญํ ทุกฺขํ ที่ทุกข์เดิมนั้นก็
เป็นอื่นคลายหายไป
พระนาคเสนจึงถวายพระพรว่า ยถา ความเปรียบนี้ฉันใดก็ดี พระโยคาวจรเมื่อแรก
แสวงหาพระนิพพานนี้ กายญฺจ จิตฺตญฺจ ยังกายและจิตให้ทรมาน คือว่าจะยืนจะเที่ยวจะนั่งจะ
นอนจะบริโภคนั้นก็มีสติพิจารณาผูกจิตอยู่ในกิจปฏิบัติ ที่ทรงพระบัญญัติไว้นั้น จิตและกายจึง
ทุรนทุรายไม่สบายด้วยทุกข์ทรมาน ครั้นได้พระนิพพานแล้วผ่องแผ้วจากทุกข์มีแต่สุขซึ่งทุกข์เดิม
นั้น อญฺญํ อญฺญํ ก็เป็นอื่นคืนคลายหายไป เอวเมว มีอุปไมยเหมือนกษัตริย์อันได้สมบัติ
กำจัดข้าศึกเสียแล้ว ก็ปราศจากทุกข์มีแต่ความสุขนั้น มหาราช ขอถวายพระพรบพิตรพระ
ราชสมภาร จงทรงพระสวนาการเหตุอุปมาให้ยิ่งกว่านี้ ถ้ามิฉะนั้นเหมือนว่าศิษย์ที่เรียนวิชากับ
อาจารย์ ได้วิชาศิลปศาสตร์แล้วมีสุขอยู่หรือ
สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดีมีพระราชโองการตรัสว่า อาม ภนฺเต เออกระนั้น
ซิพระผู้เป็นเจ้า มีสุขอยู่
พระนาคเสนจึงมีเถรวาจาว่า มหาราช ขอถวายพระพรบพิตรพระราชสมภาร
เมื่อแรกศิษย์จะแสวงหาวิชาการนั้น มีสุขอยู่หรือประการใด นะบพิตรพระราชสมภาร
สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดีมีพระราชโองการตรัสว่า น หิภนฺเต ศิษย์แรกเรียน
วิชาหาความสุขมิได้ นะพระผู้เป็นเจ้า
พระนาคเสนจึงมีเถรวาจาว่า เป็นเหตุประการใด เมื่อแรกเรียนนั้นศิษย์จึงไม่มีความสุข
เล่า
สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดีมีพระราชโองการตรัสว่า ภนฺเต นาคเสน ข้าแต่
พระนาคเสนผู้ปรีชา เหตุว่าศิษย์ทั้งหลายต้องไหว้ต้องกราบ ต้มน้ำให้อาบให้ฉัน และปฏิบัติ
กระทำเคารพอาจารย์ การเบ็ดเสร็จทั้งปวงนั้นต้องหาไม้สีฟันขันน้ำตั้งไว้ และนวดฟั้นคั้นเท้า
ทุกประการ ยามจะบริโภคอาหาร ย่อมรับประทานแต่ที่ระคนดูลำบาก อด ๆ อยาก ๆ ต้อง
ลำบากกายสังวัธยายวิชาเรียนเพียรไป ครั้นได้สมบัติวิชาแล้วก็เป็นสุข จะเจือไปด้วยทุกข์หา
มิได้เลย เป็นดังนี้นะพระผู้เป็นเจ้า
พระนาคเสนจึงมีเถรวาจาว่า มหาราช ขอถวายพระพรบพิตรพระราชสมภาร ความ

เปรียบประการนี้ ยถา มีครุวนาฉันใดก็ดี พระโยคาวจรเจ้า เมื่อแรกแสวงพระนิพพานนี้ ลำ
บากเจือไปด้วยทุกข์ครั้งได้พระนิพพานแล้วก็แผ้วทุกข์มีแต่สุขมีอุปไมยเหมือนศิษย์เรียนวิชากระนั้น
ลำบากแต่เดิม ครั้นได้เรียนวิชาศิลปศาสตร์สำเร็จแล้ว แผ้วทุกข์มีแต่ความสุขฉันนั้น
บพิตรจงทราบในพระบวรราชสันดานในกาลบัดนี้
สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ปิ่นธรณีก็สิ้นสงสัย สาธุการว่า สาธุ ภนฺเต นาคเสน ข้าแต่พระ
นาคเสน พระผู้เป็นเจ้าวิสัชนานี้ควรแล้ว สมฺปฏิจฺฉามิ โยมจะรับคำจำไว้ ณ กาลบัดนี้
นิพพานัสส อทุกขมิสสภาวปัญหา คำรบ 4 จบเพียงนี้

นิพพานปัญหา ที่ 5


สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดีมีพระราชโองการตรัสว่า ภนฺเต นาคเสน ข้าแต่
พระนาคเสนผู้ปรีชา อุปทสฺเสตุํ ถ้าพระผู้เป็นเจ้าอาจแสดงให้โลกทั้งปวงเห็นแจ้งซึ่งพระนิพพาน
รูเปน วา โดยรูปก็ดี สณฺฐาเนน วา โดยสัณฐานก็ดี อวยเวน วา โดยอวัยวะใหญ่ก็ดี ปมาเณน วา
โดยประมาณก็ดี อุปเมน วา โดยอุปมาก็ดี การเณน วา โดยเหตุก็ดี เหตุนา วา โดยปัจจัยก็ดี
นเยน วา โดยนัยก็ดี จงเปรียบจงอุปมาซึ่งพระนิพพานให้เห็นแจ้งในกาลบัดนี้
พระนาคเสนจึงถวายพระพรว่า มหาราช ขอถวายพระพรบพิตรพระราชสมภาร
นิพฺพานํ น สกฺกา อาตมามิอาจจะแสดงพระนิพพานให้เห็น โดยรูปสัณฐานอวัยวะและประมาณ
และอุปมาเหตุปัจจัยและนัยได้ เหตุว่าพระนิพพานไม่มีตัวไม่มีเหตุปัจจัย
สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดี จึงมีพระราชโองการตรัสว่า ภนฺเต นาคเสน ข้าแต่
พระนาคเสนผู้ปรีชาโยมยังไม่รับวาจาของผู้เป็นเจ้า ที่พระผู้เป็นเจ้าว่า พระนิพพานไม่มีเนื้อไม่มีตัว
ไม่มีเหตุปัจจัยนั้นเป็นเหตุประการใด นิมนต์วิสัชนาให้แจ้งก่อน
พระนาคเสนจึงถวายพระพรว่า ถ้ากระนั้นมหาบพิตรจงรู้โดยเหตุอันนี้ มหาราช ดูรานะ
บพิตรพระราชสมภารผู้ประเสริฐ คำโลกเรียกว่ามหาสมุทรนั้น มหาสมุทรมีจริงหรือพระ
ราชสมภาร
สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดีมีพระราชโองการตรัสว่า ภนฺเต นาคเสน ข้าแต่
พระนาคเสนผู้ปรีชา มหาสมุทรมีจริง